วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

50 ปี ขุมขน ของข้าพเจ้า

ประวัติศาสตร์การตั้งบ้านเรือนของชุมชน

ตำบลวังหินมีที่มาดังนี้ คำว่า “วัง” เป็นชื่อเรียกของชาวบ้านที่ใช้เรียก แม่น้ำ หรือห้วงน้ำ ที่มีน้ำลึก ทั้งนี้ตำบลวังหินเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำตรังไหลผ่านบริเวณหมู่ที่ 2 หมู่ 3 และ หมู่5 ทั้งนี้บริเวณดังกล่าว มีช่วงหนึ่งที่น้ำลึกเป็นวัง มีลักษณะพิเศษคือ มีหินเป็นชั้นๆ ลึกลงไปมีลักษณะของชั้นหินที่โดนเด่น นั่นคือมีชั้นหินที่มีลักษณะเป็นรูปหัวเสือชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า วัง “ค้างคูด” คำว่า “ค้างคูด” หมายถึงเสือ (การใช้คำว่าค้างคูด แทน เสือ เพื่อให้ดูน่ากลัวน้อยลง) แต่ต่อมาหินรูปหัวเสือได้ถูกกัดเซาะจนมองไม่เห็น คงเหลือเพียงหินเป็นชั้นๆให้ได้ดูเท่านั้น ภายหลังจึงใช้ชื่อตำบลว่า “ตำบลวังหิน” ตั้งแต่นั้นมา
อดีตตำบลวังหินเป็นพื้นที่ป่าดงดิบมีสัตว์ป่าหลายชนิด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ตระกูลแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเช่น ตระกูลฤทธากรณ์ ตระกูลทองเนื้ออ่อน ต่อมามีการอพยพ ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปากพนังอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ยกพื้นสูงเพราะต้องป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้าย
การปกครองตำบลวังหินเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งทรงเสด็จมายังพื้นที่อำเภอทุ่งสง โดยมี นายพุ่ม ฤทธากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นกำนันตำบลวังหินคนแรก เข้าเฝ้ารับเสด็จ ต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอาสาสุนทร หรือที่ชาวบ้านขนานนามว่า ขุนอาสา มีหน้าที่ ในการตัดสินคดีความภายในตำบล ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยของคุกโบราณในพื้นที่บริเวณบ้านผู้ใหญ่ หมู่ที่ 11 บ้านน้ำหัก ตำบลวังหิน
ตำบลวังหินอยู่ในพื้นที่ อำเภอทุ่งสงต่อมา เมื่อปี 2523 กิ่งอำเภอบางขันได้แยกจากอำเภอทุ่งสง ตำบลวังหินจึงอยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอบางขันตั้งแต่นั้น ทั้งนี้ในอดีตตำบลบ้านนิคมก็เป็นส่วนหนึ่งของตำบลวังหิน ปัจจุบันตำบลวังหินจึงประกอบด้วยหมู่บ้าน 13 หมู่บ้าน มีกำนันรวมทั้งสิ้น 8 คน

ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร
สภาพโดยทั่วไปของตำบลวังหินเป็นพื้นที่ราบ สลับเนินเขาเป็นพื้นที่ที่มีความลาดเอียง ทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ฤดูฝนมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 หมู่บ้านลักษณะของน้ำที่ท่วมเป็นน้ำหลาก ทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ สูง น้ำท่วมไม่ถึง เส้นทางการคมนาคมถนนสายหลักเป็นถนนลาดยาง ถนนซอยเล็กๆตามหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนดินแดง

ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลวังหินมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนเกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลหลัก 2 ฤดูคือ
ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์- เดือนมิถุนายน
ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม – มกราคม ของทุกปี

ระบบนิเวศ
อดีตตำบลวังหินเป็นพื้นที่ป่าดงดิบมีสัตว์ป่าหลายชนิด มีประชาชนอาศัยอยู่ไม่มาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ลักษณะบ้านเรือนจะเป็นบ้านที่ยกพื้นสูงเพื่อป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้าย นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณราบลุ่มแม่น้ำตรัง เพื่อทำการเกษตร การคมนาคมส่วนใหญ่เดินทางโดยเรือ ชาวตำบลวังหินมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่น การดำรงชีวิตเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอยู่ในวิสัยที่ ธรรมชาติสามารถปรับสมดุลของตนเองได้
แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาทั้งทางด้าน เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ทำให้ระบบนิเวศของตำบลวังหินมีความเปลี่ยนแปลง แม่น้ำที่เคยกว้างใหญ่ แคบลง และตื้นเขินมากขึ้น ในฤดูแล้ง บางครั้ง ก็ขาดน้ำที่ใช้ในการบริโภค ฤดูน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ป่าไม้ที่เคยมี ถูกถาง ตัด เพื่อทำเป็นพื้นที่การเกษตร สัตว์ป่าหลายชนิดสูญหาย การปลูกพืชผักต้องใช้สารเคมีมากขึ้น แร่ธาตุในดินลดน้อยลง ดินมีความกระด้างมากขึ้น

เศรษฐกิจชุมชน
ในอดีตการประกอบอาชีพที่เป็นรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่มาจากสินค้าการเกษตร สินค้าการเกษตรมีลักษณะเป็นเพียงวัตถุดิบที่ยังมิได้แปรรูปเกษตร การประกอบอาชีพเน้นเพื่อการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนที่เหลือจากการบริโภคนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของ/เงินทอง อาหารที่ใช้ในการบริโภคเช่นผักปลา ส่วนใหญ่ปลูก ไว้ บริโภคเอง ที่เหลือก็แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน

ปัจจุบันการประกอบอาชีพเน้นภาคธุรกิจมากขึ้น การประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงจากการทำนาเป็นพื้นที่สวนยาง สวนปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ พื้นที่นาถูกปล่อยร้างไว้
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวตำบลวังหินมีการเปลี่ยนแปลงไป การใช้จ่ายสินค้าพุ่มเฟือยมีมากขึ้น รายได้มาจากภาคเกษตรคือการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนตำบลวังหิน กลายเป็นอาชีพที่หายไป ชาวบ้านต้องซื้อ ข้าวกิน อาหารที่หาได้ตามท้องทุ่งนา กลายเป็นการซื้อขายตามตลาดนัด ทั้งนี้เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสินค้ามีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีหนี้สิน เพิ่มขึ้น
วิถีชีวิต
โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน
- วัด 3 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง
- โรงเรียน จำนวน 5 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 5 แห่ง
- อบต. ตั้งอยู่ ณ ม.6 ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช
- สถานีอนามัยจำนวน 2 แห่ง ให้บริการแห่งละ 6หมู่บ้าน และ7 หมู่บ้าน
- หอกระจายข่าว 13 แห่ง
- ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน จำนวน 13 แห่ง
- ถนนลาดยางเข้าถึงหมู่บ้านผ่านเส้นทางหลัก จำนวน 10 หมู่บ้าน และมีถนนหินคลุกเชื่อมเส้นทางภายในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน
- มีประปาหมู่บ้านครอบคลุมทั้งตำบล
- มีโทรศัพท์ สาธารณะ 25 จุด
- มีตลาดประจำหมู่บ้าน 5 แห่ง ที่ หมู่ 1, 3, 6, 10, 12, 13
- มีสถานที่ที่ เป็นที่สาธารณะ คือ อุทยานบ่อน้ำร้อน

วัฒนธรรมชุมชน
วัฒนธรรมของชุมชนส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก การสืบสานหรืออนุรักษ์วัฒนธรรม จะมีลักษณะเป็นการสืบสานแบบรุ่นต่อรุ่น จากลูก สู่หลาน วัฒนธรรมที่สำคัญเช่นการ “ออกปาก” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกัน ในการช่วยเหลืองานในกลุ่ม เช่น การออกปากถางหญ้า นั่นคือการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการถางหญ้าในไร่ ของคนใดคนหนึ่งเมื่อเสร็จก็จะมีการสลับสับเปลี่ยนไปไร่ ของเพื่อนในกลุ่ม คนอื่น สิ่งของตอบแทนส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะข้าวหม้อแกงหม้อ นั่นคือ เจ้าภาพเพียงหุงหาอาหารให้เป็นการตอบแทนเท่านั้น

ความเชื่อ ( ประเพณี พิธีกรรมที่เคยมีและยังดำรงอยู่)
ประชาชนในหมู่บ้านจะมีความเชื่อสืบทอดกันมา ตามบรรพบุรุษ เช่นความเชื้อในด้านไสยศาสตร์ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่คอยช่วยเหลือและคุ้มครองรักษาลูกหลานในโอกาสที่ลูกหลานตกทุกข์หรือเจ็บป่วยมีการแก้บนจัดเซ่นเครื่องไหว้ที่นิยมนับถือกันมากนั่นคือ
ครูหมอโนราห์ ในชุมชนมีอยู่ ในพื้นที่ ม.2, ม.3, ม.6 และ ม.11 ทั้งนี้บ้านใดที่นับถือจะต้องมีหิ้ง (ชั้นวางของสำหรับวางสิ่งที่เคารพนับถือ) และเครื่องบูชา สำหรับกราบไหว้ การสืบทอดจะเป็นลักษณะรุ่นต่อรุ่น โดยผู้สืบทอดจะต้องมีการเข้าโรงครู การสืบทอดเช่น การเข้าร่างทรงมโนราห์การร่ายรำมโนราห์เป็นต้น
สำหรับประเพณีวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเช่น
1. ประเพณีวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่สืบทอดที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ โดยจะจัดขึ้นตามเดือนสิบไทยของทุกปี วันดังกล่าวลูกหลานจะหิ้วปิ่นโตเข้าวัดฟังธรรมมีการทำขนมเช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า เพื่อเป็นการทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับ
2. ประเพณีหิ้วปิ่นโตข้าวของกราบไหว้ผู้สูงอายุ (พ่อ แม่ของตนเอง)โดยในวันดังกล่าวลูกหลานที่อยู่ใกล้/ไกลจะนำอาหาร ขนมที่ทำขึ้นเองมาให้พ่อแม่ เป็นการรวมญาติพี่น้องในการบอกเล่าเรื่องราวที่แต่ละคนประสบมา
3. ประเพณีชักพระ (ลากพระ)เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานเป็นสิ่งสะท้องถึงการสมานสามัคคีของคนในชุมชน
4. ลอยกระทงชาวบ้านตำบลวังหินมีความเชื่อว่า ประเพณีการลอยกระทงนั้น เป็นการแสดงความเคารพ และขอขมาในกรณีที่มีการล่วงเกินพระแม่คงคาซึ่งเปรียบประดุจสายธารแห่งชีวิต

ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านความเชื่อ : หมอไสยศาสตร์ หมอทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลวังหินมีอยู่กระจัดกกระจายตามหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ จากการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติแล้วมาประยุกต์ใช้กับชีวิต หรือไม่ก็ถ่ายทอดกันมา จากบรรพบุรุษ ตัวอย่างเช่น
ด้านการรักษา จะมีหมอต่อกระดูก หมอนวดจับเส้น หมองู หมอตำแย หมอสมุนไพร
ด้านการดำรงชีพ มีการนำวัสดุจากธรรมชาติมาทำเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ใช้เป็นของใช้ในครัวเรือน ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่น้อยมาก
ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม มีการคิดสูตรปุ๋ยชีวภาพสูตรต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพืชพันธ์ ต่างๆ
ด้านความเชื่อ ไสยศาสตร์ หมอทรงเจ้า


สังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
สังคมตำบลวังหินเป็นสังคมเกษตร มีความคิดที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้สมัยเก่าและความรู้สมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของตำบลวังหิน ซึ่งเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความสัมพันธ์ชุมชน เป็นแบบเครือญาติ ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่เกื้อกูลในชุมชนจึงเป็นแบบการเอื้ออาทรกัน พึงพาอาศัยกันและกัน เช่น การรวมกลุ่มกันล่าสัตว์ และนำเนื้อมาแบ่งปันกันตามบ้าน สิ่งของที่ขาดก็ใช้กลไกสังคมในการแลกเปลี่ยนมากกว่าการใช้เงินทอง หนุ่มสาวมีการนำเอาค่านิยมจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้นเกิดเป็นค่านิยมที่ผสมผสานที่เห็นได้ชัดเจนเช่นการแต่งกาย ภาษา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจเกิดจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น กระแสนิยมของต่างชาติจึงสามารถซึมซาบเข้ามาอย่างรวดเร็ว
สิ่งแวดล้อม
อดีตพื้นที่ตำบลวังหินเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในส่วนของ แร่ธาตุในดิน ป่าไม้ แม่น้ำ สัตว์ป่า ทั้งนี้ในอดีตพบว่า ร้อยละ90 ของพื้นที่ตำบลวังหินเป็นพื้นที่ป่าร้อนชื้นชาวบ้านในพื้นที่ใช้ป่าเป็นคลังของอาหารมีการล่าสัตว์โดยใช้ เครื่องมือที่ทำขึ้นง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน จึงไม่ทำให้ป่าขาดสมดุล
ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากพื้นที่ป่าลดน้อยลงและแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรมากขึ้นก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนบ่อยครั้ง หน้าแล้ง ขาดน้ำในการบริโภค การเกษตรเชิงเคมีมากขึ้น ทำให้ สัตว์ที่มีขนาดเล็กเช่น ไส้เดือน จุลินทรีย์ ลดลง พื้นที่ขาดแร่ธาตุแห้งแล้งการทำนาไม่ได้ผล อากาศร้อนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเช่นการปลูกป่าทดแทน การทำการเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

การศึกษาของคนในชุมชน ( การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น )
การศึกษาของคนในชุมชนย้อนกลับไปประมาณ 10 ปี มีโรงเรียนในระดับก่อนวัยเรียนมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 5 ศูนย์ซึ่งสังกัดกรมพัฒนาชุมชน และกรมศาสนา รับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 5 ขวบมาตรฐานในการเรียนยังเป็นลักษณะฝากเลี้ยงไม่ค่อยได้สอดแทรกเนื้อหาวิชาในการเรียนมากนัก เด็กที่เข้าเรียนส่วนใหญ่ก็จะมาเรียนในเวลาสั้นๆ เมื่อพ่อแม่เสร็จจากการทำสวนยางก็จะมารับกลับบ้านบางวันก็ไปเรียนบางวันก็ไม่ไป หลังจากจบแล้วต้องเข้าเรียนชั้นอนุบาลต่อในโรงเรียนในระดับประถมแต่ส่วนใหญ่ก็ให้อยู่กับบ้านจนกว่าจะมีอายุครบกำหนดที่จะเข้าเรียนระดับประถมศึกษา สำหรับครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยก็ส่งลูกให้ไปเรียนในชั้นอนุบาลกับโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในเมืองเจริญจนจบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ระดับประถมศึกษาตำบลวังหินมีโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 4 แห่ง คือโรงเรียนบ้านหนองเจ,โรงเรียนวัดวัดวังหิน,โรงเรียนบ้านสวน,โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 38 และ มีโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ประชาชนตำบลวังหินไปเรียนอีก 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านไสยาสน์,โรงเรียนบ้านสมสรร,โรงเรียนบ้านหนองท่อม,โรงเรียนบ้านควนเมา หลังจากจบชั้นประถมศึกษาบางส่วนไม่เรียนต่อออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานบางส่วนก็เรียนต่อ ตำบลวังหินมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง คือโรงเรียนวังหินวิทยาคม และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 38 แต่ทั้งสองโรงเรียนไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากประชาชนมากนักเนื่องจากไม่มั่นใจในมาตรฐานการศึกษา ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนรัษฎา (คลองปางวิทยาคม เดิม) ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่สามัญที่ ในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากจบมัธยมต้นส่วนใหญ่ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากินส่วนน้อยที่เรียนต่อในระดับมัธยมปลายและสายอาชีพ ในระดับอุดมศึกษาก็จะมีเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยถึงจะส่งบุตรหลานให้เรียนต่อ หรือฐานะไม่ค่อยดีก็กู้เงินเพื่อการศึกษาของรัฐ ทำให้บุคลากรในพื้นที่ที่จบระดับอุดมศึกษามีน้อยมาก และส่วนใหญ่ที่จบก็ทำงานในเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เนื่องจากไม่มีงานรองรับ ส่วนที่ไม่ได้ทำงานในเมืองใหญ่ก็กลับมาทำการเกษตรตามพ่อแม่ของตน
ปัจจุบันเนื่องจากราคาการผลิตทางเกษตรไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือปาล์มน้ำมันล้วนมีราคาดีทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นมีความอยู่ดีกินดีมีฐานะที่ดีขึ้นประชาชนส่วนใหญ่จึงส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองทีมีความเจริญกว่าไม่ว่าจะระดับก่อนวัยเรียนหรือระดับประถมศึกษาถึงแม้นว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 5 แห่งได้โอนย้ายมาสังกัดองค์การบริการส่วนตำบลวังหิน และมีบุคลลากรทีมีความรู้ไปประจำที่ศูนย์แล้วก็ตามเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีค่านิยมที่ว่าโรงเรียนในเมืองหรือโรงเรียนเอกชนมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีกว่านั้นเอง ในระดับมัธยมก็เหมือนกันส่วนใหญ่ยังคงไปเรียนโรงเรียนรัษฎาเป็นส่วนใหญ่ ในระดับมัธยมปลายหรือระดับ ปวช ก็มีการเรียนต่อกันมากขึ้นเกือบส่วนใหญ่ที่เรียนต่อ ในระดับอุดมศึกษาก็เหมือนกันประชาชนได้ส่งบุตรหลานให้เรียนต่อเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีกำลังในการส่งไห้บุตรหลานได้เรียนจากการที่ยางพาราและปาล์มมีราคาดีนั้นเอง ซึ่งส่งผลดีต่อชุมชนที่มีบุคลากรที่จบในระดับอุดมศึกษามากขึ้น

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาววังหากจะนับเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงคงจะนับได้เป็น 3 ยุคใหญ่ๆคือ ยุคพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ยุคพัฒนาตามแนวทางรัฐ ยุคสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ยุคพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ( ก่อนปี 2515 )
ย้อนอดีตพื้นที่ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนปี พ.ศ. 2515 เป็นพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยบ้านเขาโร ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในขณะนั้นนับรวมพื้นที่ที่สถานีอนามัยบ้านเขาโรรับผิดชอบครอบคลุมตำบลเขาโรทั้งตำบลแล้ว ยังครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางขันทั้งอำเภอด้วย ( ปัจจุบัน อำเภอบางขันมีพื้นที่ 601.66 ตารางกิโลเมตร แยกเขตการปกครองเป็น 4 ตำบล 60 หมู่บ้าน มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ 1 แห่ง สถานีอนามัย 6 แห่ง )

ในระยะแรกที่คนไทยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนตำบลวังหิน ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยตัวเอง และอยู่กันเหมือนครอบครัวใหญ่ หลักสำคัญในการรวมกลุ่มกันคือ ระบบครอบครัวและเครือญาติ กล่าวคือ การอยู่ร่วมกันของคนไทยในระยะแรก ๆ นี้ถือเหตุผลแห่งความเป็นเครือญาติเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ต่อจากนั้นก็ขยายระบบเครือญาติออกมาใช้เป็นรูปแบบของการปกครองกันหัวหน้ากลุ่มเรียกว่าพ่อบ้าน ลูกกลุ่มเรียกว่าลูกบ้าน มีการปกครองโดยผู้นำสูงสุดนั่นคือกำนัน โดยมีสิทธิขาดในการ ตัดสินคดีความ ปกครองลูกบ้าน และมีการส่งส่วยให้กับผู้นำในนั้น เมื่อพิจารณาถึงจำนวนชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยก็มักเป็นกลุ่มที่อพยพมาจาก พื้นที่อื่น หรือหนีมาจากที่อื่น ระยะแรกมีการก่อตั้งบ้านเรือน ประมาณ 10-20 หลังคาเรือน จากนั้นมีการชักจูงญาติพี่น้องจากที่อื่นมาอยู่ ดังนั้นชาวบ้านวังหินในระยะแรกจึง เป็นญาติพี่น้องกันเป็นส่วนใหญ่ การดำรงอาชีพเป็นการพึ่งพาธรรมชาติอย่างแท้จริง ครอบครัวขนาดใหญ่อยู่ร่วมกัน หากพ่อแม่ทำงานก็ให้ปู่ยาช่วยเลี้ยง เด็กก็จะเกิดความรู้สึกรักครอบครัววิถีชีวิตของคนในตำบลวังหินในอดีตมีการดำรงชีพที่พึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีการประกอบอาชีพเพื่อกิน อยู่เพื่อยังชีพ เมื่อมีการอพยพโยกย้ายประชากรมาจากถิ่นอื่น ๆมากขึ้น รูปแบบการดำรงชีพได้เปลี่ยนไป ตามกระแสการพัฒนาตามแนวทางรัฐ ทำให้ชุมชนตำบลวังหินมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไหลไปตามกระแส มีการผลิตทางการเกษตรเพื่อการค้ามากขึ้น ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิต ตามวัฒนธรรมบริโภคนิยม มากขึ้น ความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้อยลง และการถือครองที่ดินของประชาชนในพื้นที่แต่ละครัวเรือนน้อยลง เนื่องจาการรุกคืบเข้าไปถือครองของนายทุนนอกพื้นที่มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีลูกจ้างเกษตรกรรมรายใหญ่มากกว่าการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของแต่ละครัวเรือนที่มีผลผลิตเป็นของตนเอง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านรายได้ของครอบครัว

ยุคพัฒนาตามแนวทางรัฐ ( 2516 - 2544 )
หากจะนับถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคงไม่มียุคไหนที่ทำให้คนเกิดการตื่นตัวและเชื่อฟังภาครัฐมากถึงเพียงนี้ การพัฒนาส่วนใหญ่เกิดจากระดับบนสั่งการให้ระดับล่างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในยุคนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วชาวบ้านเริ่มปลุกผักกันน้อยลงพื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตร กันมากขึ้น ชาวบ้านเริ่มส่งให้ลูกหลานร่ำเรียนและเริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีในการที่จะให้ลูกหลานทำงานด้านเกษตร ชาวบ้านชื่นชอบอยากให้ลูกหลานทำงานในภาครัฐ การทำงานเพื่อวัตถุ และเงินทองมากขึ้น เริ่มมีการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังกันมากขึ้นเพื่อให้ตนเองสามารถทำงานได้มาขึ้น ใช้ร่างกายและสุขภาพของตนเองอย่างสิ้นเปลือง ไม่สนใจธรรมชาติ ตักตวงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเต็มที่ ครอบครัวเริ่มกินข้าวด้วยกันลดลง ครอบครัวเริ่มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ลูกหลานเดินทางไปทำงานนอกพ้นที่มากขึ้น ห้างสรรพสินค้า เริ่มมีมากขึ้นลูกหลายมักชอบที่จะทำงานห้างมากกว่าทำสวนยาง
นอกจากดูในส่วนของครอบครัวแล้ว มามองในภาคของชุมชนก็คงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่างในยุคนี้ โดยน่าจะเป็นยุคของโครงการโดยแท้จริง เงินและโครงการจากภาครัฐส่งมายังหมู่บ้านโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไร อยู่ดีๆก็มีเงินมาให้กู้ยืม หรือทำโครงการเป็นล้านๆ ชาวบ้านซึ่งไม่เข้าใจ ก็หันมากู้หนี้ยืมสินมากขึ้น บางคนเอาไปลงทุนโดยไม่รู้ว่าทำแล้วขายได้หรือไม่ เช่น นำเงินไปเลี้ยงไก่ ก็ปรากฏว่า เลี้ยงไก่กันทั้งหมู่บ้าน บางคนเลี้ยงแล้วก็ขี้เกียจนำไปขายเพราะตลาดอยู่ไกล ไม่มีรถไปขาย เลี้ยงไปเลี้ยงมา ไก่ก็หมด เงินที่กู้มาก็ไม่ได้ใช้ แต่ถ้าหนักหน่อยน่าจะเป็นพวกที่กู้เงินโดยบอกว่าจะนำไปเลี้ยงวัว กลับนำเงินไปซื้อรถยนต์แทน
สำหรับยุคนี้น่าจะเป็นบททดสอบที่สำคัญของทุกคนที่จะย้อนกลับมามองตนเอง ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบของการอยู่ดีกินดีจริงหรือไม่


ยุคสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

จากบทเรียนผ่านความเจ็บปวดจากอดีต การพัฒนาคนโดยเน้นวัตถุ เศรษฐกิจ ก่อให้เกิดบทเรียนที่แสนเจ็บปวด ชาวตำบลวังหินเริ่มรู้จักกันน้อยลง น้ำใจของคนชนบทเริ่มลดลง การร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลืองานของสังคม ลดลง พึ่งพาภาครัฐมากขึ้น แผนงานโครงการเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในชุมชน มีจำนวนเม็ดเงินมากขึ้น ชาวบ้านเริ่มขัดแย้งด้านผลประโยชน์มากขึ้น ราคายางพาราแพงขึ้น ชาวบ้านหันมาทำงาพืชผักเพื่อแปลงเป็นสวนยาง สวนปาล์ม มากขึ้นต้องซื้อ พริก หัวหอม ข้าวสาร เกลือ กะปิ มาใช้ในครัวเรือน ครอบครัวคุยกันน้อย ลง เริ่มมีอบายมุขเข้ามาในชุมชนมากขึ้น
จากสาเหตุทั้งหมด ทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ เริ่มหันมาจัดการตนเองมากขึ้น มีการปลูกข้าวไร่ ปลูกผัก พืชผักสมุนไพร ไว้ใช้ในครัวเรือน เริ่มมีการออมเงินไว้ใช้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน การดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านก็เกิดจากการนั่งคุย เวทีชาวบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในหมู่บ้าน จากนั้นมีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ หากต้องใช้เงินก็มีการแต่งตั้งกรรมการในหมู่บ้านเพื่อระดมทุนการใช้ในกิจกรรมดังกล่าว พวกเราชาววังหินคิดว่า การพัฒนาที่ดีที่สุด คือการพัฒนาคน หากคนได้รับการพัฒนาแล้ว ย่อมที่จะสามารถจัดการทรัพยากรในชุมชนได้เอง ปัจจุบันนี้เรามีโครงการห้องเรียนชุมชนในหมู่บ้าน เป็นสถานที่รวมพล และระดมความคิด เราคงไม่สามารถจะพูดได้ว่าเราจัดการได้ทุกเรื่อง แต่เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าเรามีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง ชุมชนของเราได้ เราเลยขอเรียกยุคนี้ว่า ยุคของการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น